บริษัท ดีแพลนทัวร์ จำกัด
083-751-6663 088-646-6637    096-926-1949    096-896-9386 dplantour@gmail.com   @dplantour

รู้จัก สีภาษาญี่ปุ่น : สีไหนพูดว่าอะไรบ้าง

สีภาษาญี่ปุ่น มีอะไรบ้าง

สีภาษาญี่ปุ่น

สีภาษาญี่ปุ่น คืออีกหมวดคำศัพท์ที่ควรรู้ แต่ละสีมีชื่อเรียกแยกย่อยไปอีกหลายแบบ มารู้จักชื่อเรียกสีพื้นฐานไปจนถึงเฉดสีที่ต่างกัน

สีเป็นได้ทั้งคำนามและคำคุณศัพท์ที่ใช้ขยายนาม แต่ละคำจะมีวิธีผันไม่เหมือนกัน โดยหลักในการผันหลักๆ คือเติม อิ โนะ หรือ นะ แล้วต่อด้วยคำนาม ดังนี้

สี : 色

คำว่าสี คือคำว่า อิโระ (Iro) จึงไม่แปลกที่หลายคำจะลงท้ายด้วยคำว่าอิโระ สีไหนที่ลงท้ายด้วยอิโระ มักผันเป็นคำคุณศัพท์ด้วยการเติมคำว่า โนะ (の)

สีแดง : 赤

  • คำนาม : อากะ (Aka)
  • คำคุณศัพท์ : อาไค่ (Akai)

 

  • สีแดง ที่ใช้กันทั่วไปคือคำว่า อากะ (ออกเสียงระหว่าง ก. กับ ค.) เมื่อผันเป็นคุณศัพท์ให้เติม อิ ออกเสียงเป็น อาไค่

สีน้ำเงิน : 青

  • คำนาม : อาโอะ (Ao)
  • คำคุณศัพท์ : อาโอย (Aoi)

 

สีน้ำเงิน คือคำว่า อาโอะ เมื่อใช้เป็นคำขยายให้ผันเป็นอาโอย (แนะนำให้ออกเสียงว่า อาโอ้ย) อาจใช้คำทับศัพท์ว่า บลู (Blue) ก็ได้ แต่จะออกเสียงว่า บุรู (Buruu)

สีเหลือง : 黄色

  • คำนาม : คีโระ (Kiiro)
  • คำคุณศัพท์ : คีโร่ย (Kiiroi)

 

สีเหลือง คือคำว่า คิอิโระ แต่แนะนำให้ออกเสียงยาวเป็น คีโระ จะเป็นธรรมชาติกว่า ข้อควรระวังคือแม้จะลงท้ายด้วยอิโระ แต่ผันด้วยการเติมอิ ไม่ใช่โนะ

สีดำ : 黒

  • คำนาม : คุโระ (Kuro)
  • คำคุณศัพท์ : คุโร่ย (Kuroi)

 

สีดำ คือคุโระ ผันเป็น คุโรอิ แนะนำให้ออกเสียงว่า คุโร่ย นอกจากนี้ยังมีคำว่า มัคคุโระ (真っ黒) ซึ่งแปลว่าดำสนิท ผันด้วยการเติมอิ เป็น มัคคุโร่ย

สีขาว : 白

  • คำนาม : ชิโระ (Shiro)
  • คำคุณศัพท์ : ชิโร่ย (Shiroi)

 

สีขาว คือชิโระ ผันเป็น ชิโรอิ แนะนำให้ออกเสียงว่า ชิโร่ย นอกจากนี้ยังมีคำว่า มัชชิโระ (真っ白) แปลว่าขาวจั๊วะ ขาวบริสุทธิ์ ผันด้วยการเติมอิ เป็น มัชชิโร่ย

สีเขียว : 緑

  • คำนาม : มิโดริ (Midori)
  • คำคุณศัพท์ : มิโดริ โนะ (Midori no)

 

มิโดริ แปลว่าสีเขียว คำนี้ไม่เติมอิแล้ว แต่จะเติม โนะ แทน หรือจะใช้ว่า มิโดริอิโระ (Midoriiro) ที่แปลว่าสีเขียวก็ได้เช่นกัน ผันโดยการเติมโนะเหมือนเดิม เป็น มิโดริอิโระ โนะ

สีฟ้า : 水色

  • คำนาม : มิซุอิโระ (Mizuiro)
  • คำคุณศัพท์ : มิซุอิโระ โนะ (Mizuiro no)

 

คำว่ามิซุ (水) แปลว่าน้ำ ส่วนมิซุอิโระแปลว่าสีฟ้า อันที่จริงคำว่าอาโอะก็ครอบคลุมเฉดสีน้ำเงินและฟ้าแล้ว แต่หากต้องการให้เห็นภาพว่าเป็นสีฟ้าอ่อนแนะนำให้ใช้คำนี้

สีม่วง : 紫

  • คำนาม : มุราซากิ (Murasaki)
  • คำคุณศัพท์ : มุราซากิ โนะ (Murasaki no)

 

สีม่วง ใช้ว่ามุราซากิ หรือมุราซากิอิโระ (Murasakiiro) ผันเป็นคำขยายด้วยคำว่า โนะ เหมือนกัน

สีชมพู : ピンク

  • คำนาม : พิงคุ (Pinku)
  • คำคุณศัพท์ : พิงคุ โนะ (Pinku no)

 

พิงคุ มาจากคำว่า Pink แนะนำให้ออกเสียงว่า พิ้งขุ แต่นอกจากนี้ยังมีวิธีเรียกสีชมพูแบบญี่ปุ่นอีกหลายคำ เช่น บาระอิโระ (バラ色) ที่แปลว่าสีกุหลาบ ซากุระอิโระ (Sakurairo) แปลว่าสีซากุระ โมโมะอิโระ (Momoiro) แปลว่าสีพีช เป็นต้น โดยเฉดสีก็จะต่างกันไปเล็กน้อย ผันด้วยการเติม โนะ ทั้งหมด

สีส้ม : オレンジ

  • คำนาม : ออเรนจิ (Orenji)
  • คำคุณศัพท์ : ออเรนจิ โนะ (Orenji no)

 

คำนี้คือคำทับศัพท์มาจาก Orange อาจใช้ว่า ออเรนจิอิโระ (Orenjiro) ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีพูดแบบญี่ปุ่นคือ มิคังอิโระ (Mikan-iro) โดย มิคัง ก็แปลว่า ส้ม เหมือนกัน ผันด้วยการเติม โนะ เช่นกัน

สีเทา : 灰色

  • คำนาม : ไฮอิโระ (Haiiro)
  • คำคุณศัพท์ : ไฮอิโระ (Haiiro no)

 

สีเทามีวิธีพูดหลายคำ เช่น ไฮอิโระ แปลว่าสีขี้เถ้า หรือจะทับศัพท์ว่า กุเร (Gurei) ที่มาจากคำว่า Grey ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีคำว่า เนซุมิอิโระ (Nezumiiro) ที่แปลตรงตัวว่า สีหนู อีกด้วย ผันด้วยการเติม โนะ ทั้งหมด

สีทอง : 金色

  • คำนาม : คินอิโระ (Kin-iro)
  • คำคุณศัพท์ : คินอิโระโนะ (Kin-iro no)

 

คิน (金) แปลว่าทอง คินอิโระจึงแปลว่าสีทองตรงตัว นอกจากนี้ยังนิยมใช้คำว่า โกลด์ (Gold) โดยจะออกเสียงเป็น โกรุโดะ (Gorudo)

สีเงิน : 銀色

  • คำนาม : กินอิโระ (Gin-iro)
  • คำคุณศัพท์ : กินอิโระ โนะ (Gin-iro no)

 

กิน (銀) แปลว่าเงิน กินอิโระจึงแปลตรงตัวว่าสีเงิน แนะนำให้ออกเสียงคำว่า กิน ให้อยู่ระหว่าง ก. กับ ง.

สีรุ้ง : 虹色

  • คำนาม : นิจิอิโระ (Nijiiro)
  • คำคุณศัพท์ : นิจิอิโระ โนะ (Nijiiro no)

 

นิจิ (虹) แปลว่าสายรุ้ง นิจิอิโระจึงแปลตรงตัวว่าสีรุ้ง

สีเขียวกับไฟจราจรญี่ปุ่น

สีภาษาญี่ปุ่น

สีไฟจราจรคือสี แดง-เหลือง-เขียว อย่างเป็นสากล อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเรียกไฟจราจรสีเขียวว่า อาโอะ ซึ่งเป็นเพราะสมัยก่อนญี่ปุ่นเรียกสีเขียวด้วยคำว่า อาโอะ นั่นเอง อย่างเช่น แอปเปิ้ลเขียว ก็เรียกว่า อาโอริงโกะ มาจนถึงทุกวันนี้เหมือนกัน